
สถานการณ์ทางการเกษตรประเทศไทย
ภาคเกษตรกรรมของไทยได้ก้าวเข้าสู่การ เปลี่ยนแปลงอย่างสูง เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีกรอบแนวคิดเสรีนิยมใหม่เป็นกรอบนำในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สถานการณ์ในระดับโลกและระดับประเทศได้ส่งผลต่อวิถีการผลิต การบริโภคในประเทศ ซึ่งถูกผูกโยงไปสู่ระดับระหว่างประเทศมากขึ้น กติกาการค้าโลกและกติการะหว่างประเทศที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงสองทศวรรษ ที่ผ่านมา มีส่วนอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กติกาต่างๆ เหล่านี้ มิได้ส่งผลเพียงการค้า หรือมิติทางเศรษฐกิจของชุมชนเท่านั้น แต่ได้เปลี่ยนแปลงการพัฒนาของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยและชุมชนชนบท ซึ่งในปัจจุบันภาคเกษตรกรรมไทยเหลือเพียงร้อยละ 33.5 ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่โลกก็กำลังเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ ที่ท้าทายสังคมโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและผันผวนทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งการเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของไทย ขบวนการเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งเป็นขบวนการที่มีประสบการณ์การทำงานค้นหาทางเลือกของเกษตรกรในแนวทาง เกษตรกรรมยั่งยืนอย่างต่อเนื่องมานับทศวรรษ และมีพลวัตของความเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนชนบท ที่น่าสนใจ และเป็นบทเรียนของการเผชิญกับภาวะวิกฤตทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนา รวมทั้งในเชิงวัฒนธรรม ภายใต้กรอบคิดเรื่องการผลิตที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ การพึ่งตนเองของเกษตรกรรายย่อยและชุมชน รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้จัดให้มีการประชุมระดมความเห็นจากองค์กรสมาชิกที่เป็นองค์กรพัฒนา เอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทาง ยุทธศาสตร์การพัฒนางานเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อสร้างประสิทธิภาพทางความรู้ และการขับเคลื่อนงานเพื่อเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและ ระหว่างประเทศร่วมกัน

การวิเคราะห์ปัญหาภาคการเกษตรไทย
ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันคนจนของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 9.55% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ปี 2549) โดยส่วนใหญ่ยังอยู่ในชุมชนภาคเกษตรกรรมซึ่งมีอยู่ราว 5,378,700 คนจากจำนวนคนจนทั้งสิ้น 6.1 ล้านคน เกษตรกรโดยส่วนใหญ่ที่แม้ถูกพิจารณาว่าไม่ได้อยู่ภายใต้เส้นความยากจนของ สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ต้องตกอยู่ในภาวะหนี้สิน เมื่อลองคำนวณจากการซื้อหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเมื่อต้นปี 2550 พบว่าเกษตรกรเป็นหนี้โดยประมาณ 172,375 บาท/ราย เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูจำนวน 6.3 ล้านคน ถ้ารวมเกษตรกรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ อีกจำนวนหนึ่ง รวมกันอาจจะถึง 10 ล้านคน คิดอย่างหยาบๆ ก็จะเป็นหนี้รวมกันไม่น่าจะน้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท
เมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในเนื้อที่ถือครองการเกษตรก็พบว่ามีแนวโน้มการลดพื้นที่ทำนาลง กล่าวคือ จากปี 2529 มีพื้นที่นาคิดเป็นร้อยละ 56.70 (คิดเป็นเนื้อที่ 74,223,803 ไร่) เมื่อถึงปี 2548 พื้นที่นาลดลงเหลือร้อยละ 49.02 (คิดเป็นเนื้อที่ 63,861,066 ไร่) หรือ มีการลดลงของพื้นที่นากว่า 10,362,737 ไร่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในทางกลับกันพื้นที่สำหรับการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ซึ่งรวมถึงยางพาราและปาล์มน้ำมัน มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ จากปี 2529 มีพื้นที่ไม้ผลและไม้ยืนต้นคิดเป็นร้อยละ 10.94 (คิดเป็นเนื้อที่ 14,323,982 ไร่) เมื่อถึงปี 2548 พื้นที่ไม้ผลและไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.33 (คิดเป็นเนื้อที่ 27,787,972 ไร่) หรือในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ไม้ผลและไม้ยืนต้นเท่ากับ 13,463,990 ไร่
หากแนวโน้มการพัฒนาการเกษตรเป็นไปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ และไม่มีการแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างจริงจัง เชื่อว่าอีกไม่เกิน 30 ปี จำนวนเกษตรกรไทยจะเหลือต่ำกว่าร้อยละ 10 เช่นเดียวกับประเทศในยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกา เพราะเกษตรกรอิสระรายเล็กรายน้อยจะค่อยๆ เลิกไปหรือเปลี่ยนไปเป็นแรงงานรับจ้างในโรงงาน หรือเป็นแรงงานเกษตรรับจ้างในที่ดินที่เคยเป็นของตนเอง ที่ยังเหลืออยู่บ้างคงเป็นกลุ่มเกษตรกรพันธะสัญญา
อาจกล่าวได้ว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ภาคเกษตรกรรมไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะที่เกษตรกรไทยยังคงเผชิญปัญหาความยากจนอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมทาง เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ปรากฏการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยในปัจจุบันมีหลายประการ กล่าวคือ
1. ปัญหาด้านปัจจัยและฐานทรัพยากรการผลิต ทั้งเรื่องที่ดินทำกิน เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินทำกิน และเกษตรกรที่ยังมีที่ดินจำนวนมากแต่ละปีต้องสูญเสียที่ดินทำกินให้กับสถาบันการเงิน ปัญหาการเข้าไม่ถึงทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะน้ำ ทะเล ป่า และทรัพยากรพันธุกรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นฐานชีวิตของเกษตรกรและชาวประมงขนาดเล็ก รวมทั้งสิทธิเกษตรกรในด้านการเข้าถึงพันธุกรรมพืชและสัตว์ ยังไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต และพึ่งพิงตนเองไม่ได้
ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อันเนื่องจากปัจจัยการผลิตมีฐานจากการใช้พลังงาน ต้นทุนปุ๋ย ยา แรงงานสูงขึ้น ฐานทรัพยากรอาหารลดลง และแม้ว่าปัจจุบันมีแนวโน้มว่าผลผลิตทางการเกษตรจะมีราคาดี แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ไม่แน่ว่าจะส่งผลประโยชน์กลับมาที่เกษตรกร รวมทั้งราคาอาหารที่แพงขึ้นก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่สูงขึ้น และส่งผลลบต่อคนจนเมืองเช่นกัน
2. ปัญหาเรื่องสุขภาวะ ทุกฤดูการผลิตไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชไร่ พืชสวน หากได้ออกไปในไร่นาก็จะได้กลิ่นสารเคมีกำจัดหญ้ากำจัดแมลงทั่วทุกหนแห่ง เกิดผลกระทบทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค เกษตรกรเองหนักกว่าเพื่อนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในฐานะเป็นผู้ใช้ยาและ เป็นผู้บริโภคผลผลิตด้วย
3. ปัญหาเรื่องตลาด ตลาดเป็นของพ่อค้าแต่การลงทุนและความเสี่ยงเป็นของเกษตรกร เกษตรกรจึงไม่มีส่วนในการตัดสินใจกำหนดราคาตลาด ราคาผลผลิตการเกษตรจึงไม่เป็นธรรม ไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ ตามอำนาจซื้อของพ่อค้าขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นโดยที่ไม่เคยลดลง
4. ปัญหาที่มาจากนโยบายพลังงาน และปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนน้ำมัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกพืชน้ำมันทั้งหลาย และส่งผลกระทบในหลายมิติ เช่น
• พื้นที่เกษตร เปลี่ยนเป็นพื้นที่พืชพลังงานและเป็นเชิงเดี่ยวมากขึ้น ปัญหาการใช้ที่ดินที่ถูกเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตร เช่น การปลูกมันหลังนา การปลูกยูคาบนคันนา ฯลฯ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดจากโครงสร้างการผลิตเปลี่ยนแปลง ตามโครงสร้างพลังงาน และนโยบายพลังงานจนส่งผลต่อภาคเกษตรกรรม
• ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ฐานอาหาร และสิ่งแวดล้อม อันเนื่องจากการขยายตัวของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น การใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น และการบุกรุกพื้นที่ป่า (กรณีพืชน้ำมัน) รวมทั้งการทิ้งของเสียจากโรงงานเอทานอล ฯลฯ ปัญหาที่ดินของเกษตรกรรายย่อย ปัญหาของชุมชนเกษตรกรรายย่อยกับฐานการผลิต ฐานทรัพยากรธรรมชาติ
• ปัญหาพันธุกรรมพืช เช่น การที่พืชจีเอ็มโอจะเข้ามาทางพืชน้ำมัน
• ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร จากการเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรกรรม จำนวนเกษตรกรรายย่อยลดลง เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ เกษตรกรจำนวนมากไม่ได้ทำเกษตร เกษตรกรไม่ได้มีชีวิตอยู่บนฐานเศรษฐกิจชาวนา ปัญหาความมั่นคงทางอาหารมิได้มีปัญหาเฉพาะต่อชุมชนชาวนา และจะส่งผลกระทบต่อประชากรทั้งประเทศ
![]() | ![]() | ![]() |
---|
เหตุปัจจัยแห่งปัญหา
มีทั้งปัจจัยจากภายในของเกษตรกรเอง ปัญหากระบวนทัศน์ของเกษตรกร ความเปลี่ยนแปลงความคิดของเกษตรกรเป็นไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มุ่งเน้นการแข่งขัน การบริโภคอย่างไร้ขอบเขตจำกัด สร้างให้เกิดกิเลสภายใน อกุศลมูลอันเป็นรากเหง้าของกิเลส ได้แก่ ความโลภ โกรธ หลง ทำให้เกิดอกุศลธรรมระดับปรากฏการณ์ 3 ประการที่ทำให้เห็นสิ่งผิดเป็นถูกคือ ตัณหา ทำให้เกิด ทำให้อยาก อยากรวย อยากได้โน่นอยากได้นี่ มานะ คือความทะนงตนว่าสิ่งโน่นสิ่งนี่เป็นของตน มุ่งครอบครองแข่งขันเอาชนะทุกรูปแบบถือตนว่าแน่กว่าใครจึงไม่ฝึกตนไม่เรียน รู้ทางเลือกใหม่ๆ และ ทิฐิ ซึ่งเป็นมิจฉาทิฐิคือเห็นชั่วเป็นดี อกุศลธรรมทั้งปวงทำให้ความคิดและพฤติกรรมเกษตรกรเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยหา อยู่หากินอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพอมีพอใช้ มาเป็นซื้อกินจึงต้องหาเงินให้เท่าหรือรวยยิ่งกว่าคนอื่นทำให้ไม่รู้จักพอ ใจใหญ่ใจโต เบียดบังทำลายขายธรรมชาติ และเป็นที่มาของปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการ
ปัจจัยจากภายนอก ซึ่งส่งผลรุนแรงและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรกรรมอย่างรวดเร็ว ปัจจัยแรก มาจากนโยบายการค้าเสรี ซึ่งส่งผลต่อปัญหาอธิปไตยทางอาหาร การค้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุกรรมพื้นบ้าน ไปจนถึงการละเมิดสิทธิเกษตรกรและชุมชน อีกทั้ง บทบาทของบรรษัทข้ามชาติ จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต (ขยายบทบาทมากขึ้นในภาคเกษตรในไทย และไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน) ด้วยแรงหนุนมาจากการค้าเสรี
ปัจจัยที่สอง คือปัจจัยอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก ทำให้สภาพภูมิอากาศและความสมดุลของนิเวศเปลี่ยนแปลงไปชาวบ้านเจอปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม และโรคแมลงระบาด และในภาวะที่โลกเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน ทำให้การหาทางเลือกในการแก้ปัญหามุ่งสู่การใช้พลังงานชีวมวล ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการบรรยากาศโลก
จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรมีทั้งที่มาจากปัจจัยภายในประเทศ และแรงกดดันที่มาจากภายนอกประเทศ ทำให้เกษตรกรและชุมชนอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม นำมาสู่การผลักดันนโยบายการค้าการลงทุนที่คุกคามวิถีชีวิตเกษตรกร การรุกคืบของบรรษัทข้ามชาติที่เข้าครอบงำระบบการผลิต ระบบการตลาด พฤติกรรมการบริโภค ไปจนถึงวิกฤติน้ำมันและปัญหาโลกร้อน
![]() | ![]() | ![]() |
---|